มาชูปิกชู Machu Picchu เคยเป็นที่ตั้ง “ชุมชนอินเตอร์”
นักโบราณคดีต่างเคยมีความเชื่อว่า Machu Picchu โบราณสถานอารยธรรมอินคาบนเขาสูงของเปรู ที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก คือพระราชวังที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลนครหลวง และสงวนไว้สำหรับการเสด็จแปรพระราชฐานของจักรพรรดิอินคาเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น อ่านข่าวเพิ่มเติม
มาชูปิกชู (Machu Picchu) เคยเป็นที่ตั้ง “ชุมชนอินเตอร์” มีคนต่างชาติพันธุ์อยู่หนาแน่น
จากผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอล่าสุดที่ได้จากศพของคนโบราณจำนวน 34 ร่าง ถูกฝังอยู่ในบริเวณดังกล่าว ชี้ว่า Machu Picchu เคยเป็นเมืองที่อยู่อาศัยของผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายวัฒนธรรม เช่นเดียวกับมหานครสมัยใหม่ทั่วโลก
โดยคนเหล่านี้ถูกนำตัวมาจากแทบทุกภูมิภาคของเทือกเขาแอนดีส ชายฝั่งทะเลทั้งทางเหนือและใต้ของเปรู รวมทั้งป่าแอมะซอน เพื่อให้เป็นข้ารับใช้ในพระราชวัง
Machu Picchu ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 ยุคของจักรพรรดิปาชาคูติ (Pachacuti) ผู้ทรงอำนาจ โดยเป็นพระราชวังที่มีข้ารับใช้คอยดูแลอาศัยอยู่ตลอดเวลาเป็นจำนวนมาก ข้ารับใช้ชายจะเรียกว่า “ยานาโคนา” (Yanacona) ส่วนข้ารับใช้หญิงจะเรียกว่า “อักญา” (Aglla)
จากงานวิจัยทางโบราณคดีก่อนหน้านี้ชี้ว่า ข้ารับใช้ของพระราชวัง Machu Picchu มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยิ่ง เนื่องจากโครงกระดูกไม่พบร่องรอยของการใช้แรงงานหนัก หรือบาดแผลจากการถูกส่งไปสู้รบในสงครามแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีร่องรอยของโรคภัยไข้เจ็บในวัยเด็กด้วย แสดงว่าคนเหล่านี้ได้รับการดูแลจากเจ้านายเป็นอย่างดี
เมื่อนำ DNA จากศพของข้ารับใช้ทั้ง 34 ร่าง ที่ถูกฝังในสุสานของ Machu Picchu มาเปรียบเทียบกับข้อมูลทางพันธุกรรมคนในปัจจุบันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบเมืองกุสโก (Cusco) นครหลวงโบราณของจักรวรรดิอินคา
ผู้วิจัยพบว่าสังคมของข้ารับใช้ในพระราชวัง Machu Picchu เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ ต่างวัฒนธรรมดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ทั้งยังมีการแต่งงานข้ามเผ่าและมีลูกหลานที่เป็นลูกผสมสืบต่อมาด้วย โดยพบร่างของผู้ตายบางส่วนถูกฝังไว้รวมกันทั้งครอบครัว
รศ.ดร.เจสัน เนสบิตต์ สมาชิกจากทีมนักโบราณคดีมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ของสหรัฐฯ ได้กล่าวให้สัมภาษณ์หลังตีพิมพ์รายงานวิจัยข้างต้นลงในวารสาร Science Advances ว่า
“แม้ความแตกต่างทางพันธุกรรมจะไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ข้ารับใช้แต่ละคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อย DNA ก็ช่วยบอกได้ว่าพวกเขาเหล่านี้มาจากถิ่นกำเนิดที่หลากหลายและห่างไกลกันอย่างมาก จากทั่วทุกมุมของอาณาเขตจักรวรรดิอินคา”
ร่างของข้ารับใช้ที่นำมาวิเคราะห์ นั้นส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดแต่อย่างใด จึงแสดงว่าพวกเขาถูกนำตัวมาจากบ้านเกิดเพียงลำพัง โดยไม่ได้มีการเทครัวผู้คนกลุ่มใหญ่ที่เป็นเครือญาติกันมายัง Machu Picchu รศ.ดร.เนสบิตต์ กล่าว
จากสรุปในรายงานทีมผู้วิจัยได้กล่าวว่า “ผลการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของเรา เผยให้เห็นถึงสภาพสังคมของ Machu Picchu ในอดีต ซึ่งมีชุมชนขนาดใหญ่ของข้ารับใช้หลากหลายชาติพันธุ์ดำรงชีวิต โดยอาศัยอยู่ร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยไม่มีการแบ่งแยกตามเชื้อสายหรือถิ่นกำเนิด”
อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีผู้ทำการวิจัยในครั้งนี้ ไม่ได้พบร่องรอย DNA ของบรรดาเจ้านายและเชื้อพระวงศ์เลย เนื่องจากคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพระราชวังที่เมืองกุสโก นครหลวงยุคโบราณเป็นหลัก จึงทำให้พลาดโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของชนชั้นสูงแห่งจักรวรรดิอินคาไปอย่างน่าเสียดาย
เรื่องราวเพิ่มเติม
แบนเกาหลีได้ผล สาเหตุนักท่องเที่ยวไทยเซ็ง ตม. ทำลดฮวบ 21.1%
บาหลี เก็บภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ดอลลาร์บาหลี
แม่เต่ามะเฟือง สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์วางไข่รังที่ 10 ของฤดู