22/11/2024

ผลข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด

ผลข่าว อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด 24 ชั่วโมง

เหรียญ USDT เครื่องมือฟอกเงิน ดิไอคอน ไข 1 คำถามตามยากจริง?

เหรียญ USDT

เหรียญ USDT เครื่องมือฟอกเงิน ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) ไข 1 คำถามตามยากจริงหรือไม่?

กรณีคดีอื้อฉาวแห่งเดือนตุลาคมปีนี้คงจะหนีไม่พ้น ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) ที่เป็นกระแสทั่วประเทศเนื่องจากเป็นเคสที่มีบุคคลดังระดับประเทศเกี่ยวพันในฐานะผู้ต้องหาการฉ้อโกงครั้งนี้ผ่านการเชิญชวนสมาชิกใหม่ให้มาเข้าร่วมเพื่อนำสินค้าไปขายต่อ แต่ผู้เข้าร่วมหลายรายกลับขายสินค้าไม่ได้จนนำมาสู่ความเสียหายในวงกว้าง อ่านผลข่าวเพิ่มเติม

นอกเหนือจากรูปแบบธุรกิจที่ไม่ชอบมาพากลแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ผุดขึ้นมาในคดีนี้คือ เหรียญ USDT ที่พบว่านำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินของ ดิไอคอนกรุ๊ป

ด้าน เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ สายไหมต้องรอด ได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จ่ายสินบนมูลค่ามหาศาลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของภาครัฐด้วยเหรียญ USDT ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีประเภท Stablecoin นับว่าเป็นที่นิยมมากที่สุด และมีมูลค่าสอดคล้องกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

เหรียญ USDT

สำหรับจุดประสงค์ของการใช้ USDT นั้น การทำธุรกรรมก็เพื่อปกปิดร่องรอยธุรกรรม และทำให้การสาวกลับมาหาตัวต้นทางยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองจากมุมของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคริปโต USDT เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการฟอกเงินจริงหรือไม่ ในเมื่อธุรกรรมทุกรายการถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชน แล้วการตามตัวมันยากเหมือนที่หลายคนคิดหรือเปล่าวันนี้เรามีคำตอบ

เมื่อต้นปี 2024 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ทำการตีพิมพ์รายงานที่มีส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่พาดพิงบริษัท Tether ผู้ออกเหรียญ USDT ว่ากำลังเป็นเครื่องมือที่มิจฉาชีพนิยมใช้กันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหารายงานมีใจความดังนี้

“USDT กลายเป็นตัวเลือกที่นิยมสำหรับการฟอกเงินในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากราคามีความเสถียร ใช้งานง่าย ไม่เปิดเผยตัวตน มีค่าธรรมเนียมต่ำ โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยข่าวกรองทางการเงินในภูมิภาครายงานว่า USDT เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มอาชญากรรมฉ้อโกงทางไซเบอร์ 

ซึ่งเราพบได้จากจำนวนคดี และจำนวนแพลตฟอร์มพนันออนไลน์กับศูนย์ซื้อขายคริปโตที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้บริการ “ธุรกิจใต้ดิน” บนพื้นฐานของสกุลเงินของ USDT”

เหรียญ USDT

อย่างไรก็ตาม ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากรายงานฉบับดังกล่าวจาก UN ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ บริษัท Tether ก็ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาว่า ความลำเอียงของรายงานที่เลือกโฟกัสเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับการใช้งานโดยมิจฉาชีพ และเพิกเฉยต่อประโยชน์ที่ USDT มีให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา 

พร้อมกันนี้ Tether ระบุเพิ่มเติมถึงความสามารถในการติดตามธุรกรรมที่บริษัทร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น FBI, DOJ หรือ USSS ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ศักยภาพที่เหนือกว่าระบบธนาคารดั้งเดิมที่ Tether อ้างว่า “เป็นแหล่งฟอกเงินจำนวนมหาศาลมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากหลักฐานค่าปรับที่เหล่าธนาคารถูกเรียกเก็บ”

อีกทั้ง Tether แนะนำให้ UN ศึกษาการทำงานของบล็อกเชนให้เข้าใจก่อน โดยชี้ว่า “เหรียญที่ออกโดย Tether ใช้ระบบบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ซึ่งหมายความว่าเราสามารถติดตามธุรกรรมทุกรายการได้อย่างละเอียด ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมาะมากนักในการนำไปใช้ก่ออาชญากรรม”

เมื่อธุรกรรมทุกรายการสามารถติดตามได้อย่างละเอียดแล้วทำไมมิจฉาชีพบางคนถึงยังเลือกใช้?

USDT นับว่าเป็นช่องทางการส่งเงินที่อาจตามได้ยาก แต่ไม่ใช่ตามไม่ได้ ด้วยระบบที่เปิดกว้าง และโปร่งใสของ USDT ผู้ใช้งานหรือใครก็ตามสามารถเข้ามาตรวจสอบประวัติธุรกรรมได้ แต่หนึ่งในข้อจำกัดของการติดตามที่ ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ Managing Director Trustender, Founder Thai Bitcast และกรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มองว่ายังมีอยู่ คือเรื่องของการทำความเข้าใจในระบบ

ในปัจจุบันความรู้ และความเข้าใจยังอยู่ในวงแคบ ดังนั้นผู้รู้ที่สามารถเข้ามาตรวจสอบยังเป็นเรื่องที่ท้าทายหากถ้าเทียบกับระบบธนาคารปัจจุบัน การโอนเงินจำนวนมากจำเป็นจะต้องมีการรายงานจากธนาคาร แต่ถ้าเป็น USDT การรายงานจากตัวกลางทางการเงินอาจไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นการโอนบนบล็อกเชนระหว่างผู้รับและผู้ส่งโดยตรง” ศุภกฤษฎ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ซื้อขายที่ได้รับการอนุมัติตามกฎหมายจะมีระบบยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน (KYC) ทำให้การระบุตัวตนที่เชื่อมโยงกับกระเป๋าเงินดิจิทัลของบุคคลนั้น ๆ ทำได้ไม่ยาก

ส่วนกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อยู่นอกเหนือศูนย์ซื้อขาย และไม่ได้รับการยืนยันตัวตน จะทำให้การตามตัวยิ่งท้าทายมากขึ้น แต่ยังสามารถทำได้อยู่ เพราะสุดท้ายแล้วขอบเขตการใช้งานคริปโตอย่าง USDT ในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยนยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้เหรียญต้องถูกแปลงออกมาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อใช้จ่ายอย๋นั่นเอง ซึ่งเป็นจุดที่หน่วยงานรัฐสามารถย้อนกลับไปดูประวัติเพื่อตามตัวได้

หนึ่งในตัวอย่างเรื่องการแกะรอยเส้นทางธุรกรรม USDT ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงตลาดกระทิงปี 2021 คือกรณีการโจรกรรมไซเบอร์ด้วยการปล่อยมัลแวร์เพื่อแลกกับค่าไถ่เป็นสกุลเงินคริปโตจากเหยื่อ แต่เนื่องจากบล็อกเชนมีความโปร่งใสจึงทำให้เมื่อมีการโอนเงินเข้าไปสู่กระเป๋าใดกระเป๋าหนึ่งในลักษณะที่ผิดปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถจับตาดูกระเป๋าเงินนั้นและสาวหาต้นตอ เมื่อมีการเปลี่ยนจากคริปโตออกมาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศผ่านระบบธนาคาร

เหรียญ USDT

แม้ว่า USDT เองจะไม่ใช่เหรียญที่ให้ความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริงกับมิจฉาชีพเพื่อใช้สำหรับฟอกเงิน แต่ความสะดวกรวดเร็ว สภาพคล่องสูง และมีต้นทุนการตามตัวที่มากกว่าระบบการเงินทั่วไป ทำให้มิจฉาชีพบางรายยังเลือกที่จะใช้ USDT

สำหรับคดีอื้อฉาวของ ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้คริปโตในทางที่ผิด แต่ความผิดอาจไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีอย่าง USDT แต่เป็นที่ตัวของบุคคลที่ต้องการหาผลประโยชน์จากสิ่งใหม่ที่หลายภาคส่วนในสังคมยังไม่เข้าใจ ผนวกกับความเร็ว ความสะดวก และสภาพคล่องที่ USDT มีให้ แม้ว่ามันจะไม่สมบูรณ์แบบ

เครดิต thestandard.co