15/11/2024

ผลข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด

ผลข่าว อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด 24 ชั่วโมง

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย ปนเปื้อนจากโรงงานนิวเคลียร์ลงทะเล 2023

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย จากโรงงานนิวเคลียร์ลงทะเลน่ากังวลแค่ไหน

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย โดยมีแผนการปล่อยน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้ว ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และความโกรธเคือง ไม่เพียงจากคนญี่ปุ่นภายในประเทศ รวมถึงประเทศใกล้เคียงด้วย อ่านข่าวเพิ่มเติม

นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อปี 2011 ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโรงไฟฟ้า และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย จนต้องปล่อยน้ำเข้าไปหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จึงส่งผลให้มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหลายล้านตันสะสมอยู่ในโรงงาน เป็นเหตุให้ทางการญี่ปุ่นอ้างว่า จำเป็นจะต้องปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่ทะเล

แม้ว่าทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ จะอนุมัติแผนดังกล่าว แต่ก็ยังสยบกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงภาคชุมชนที่กังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไม่ได้

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย

กลุ่มอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลญี่ปุ่น รวมไปถึงในประเทศอื่น ๆ ของภูมิภาค ได้แสดงความวิตกกังวลถึงวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะกลัวว่า ผู้บริโภคจะเมินอาหารทะเลจากญี่ปุ่น และประเทศเหล่านี้ จากการที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียออกมา

จีนเอง กล่าวหาญี่ปุ่นว่า ใช้มหาสมุทรที่เป็นทรัพยากรส่วนรวม เปรียบเเสมือนกับ “บ่อน้ำทิ้งส่วนตัว” พร้อมวิจารณ์ IAEA ว่า “เลือกข้าง” ขณะที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ แม้จะสนับสนุนแผนการของญี่ปุ่น แต่ประชาชนจำนวนมากกลับออกมาต่อต้าน

ด้านของรัฐบาลไทย ผู้เป็นประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลจำนวนมากจากญี่ปุ่น ยังไม่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนต่อเรื่องนี้ แต่ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผ่อนคลายการนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น ในปี 2561

ญี่ปุ่นกำลังทำอะไรกับน้ำเสียที่มาจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

ภัยพิบัติเมื่อปี 2011 บริษัท เทปโก ผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ปั๊มน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อหล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิง ที่เกิดการหลอมละลาย ดังนั้นทุกวันในโรงไฟฟ้าจะสร้างน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ปัจจุบัน บรรจุอยู่ในแทงค์น้ำที่มีขนาดมหึมา

ในปัจจุบัน แทงค์น้ำมากกว่า 1,000 ถัง ถูกบรรจุเต็มแล้ว ซึ่งญี่ปุ่นระบุว่า นี่เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน จึงต้องการทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตลอด 30 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. อีกทั้งยังยืนกรานว่า น้ำที่จะปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัย

โดยปกติการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วลงมหาสมุทร เป็นสิ่งที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำอยู่เป็นประจำ แต่ด้วยความที่น้ำปนเปื้อนรังสีของญี่ปุ่น เกิดจากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้พวกมันเป็นกากนิวเคลียร์ที่ผิดแผกจากปกติไป

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย
นับแต่ปี 2011 มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี 1.34 ล้านตัน ถูกเก็บอยู่ในแทงค์น้ำขนาดยักษ์

เทปโก ได้ใช้ระบบปั๊มและกรองน้ำขั้นสูงหรือที่เรียกว่า เอแอลพีเอส เพื่อบำบัดน้ำเสียมีระดับกัมมันตรังสีต่ำถึงระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้ แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ ไม่สามารถขจัดสารอย่างทริเทียม และคาร์บอน-14 ออกไปได้หมด

ทริเทียม และคาร์บอน-14 เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปแบบของไฮโดรเจนและคาร์บอน ที่คัดแยกออกจากน้ำได้ยากมาก อนึ่งสารเหล่านี้มีอยู่ในธรรมชาติ น้ำ และในร่างกายมนุษย์ด้วย เพราะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ก่อนเข้ามาสู่วงจรของน้ำ และเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

ทั้งสารทริเทียมและคาร์บอน-14 ปล่อยกัมมันตรังสีออกมาในระดับที่ต่ำ แต่ “หากบริโภคสารนี้หรือดื่มเข้าไปมากพอ อาจเป็นอันตรายได้ ” จิม สมิธ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าว

“อย่างไรก็ตามน้ำที่ฟุกุชิมะมีแผนจะปล่อย มีทริเทียมอยู่ที่ 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ส่วนมาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลกสำหรับทริเทียม คือ 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ดังนั้น ตามทฤษฎีแล้ว ถ้าน้ำไม่เต็มไปด้วยเกลือ น้ำบำบัดจากฟุกุชิมะ ก็สามารถดื่มกินได้”

เทปโก ยังคงยืนกรานว่า สารคาร์บอน-14 เองก็มีระดับกัมมันตรังสีที่ไม่เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

หลังจากการบำบัดน้ำด้วย เอแอลพีเอสแล้ว น้ำปนเปื้อนจะถูกทำให้เจือจางด้วยน้ำทะเล เพื่อลดทอนความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสี ก่อนจะปล่อยลงสู่มหาสมุทร ซึ่ง เทปโก ระบุว่า ระบบที่ทางบริษัทเตรียมไว้จะช่วยทำให้มั่นใจได้ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีที่ยังไม่ผ่านการบำบัดและเจือจาง จะไม่ถูกปล่อยลงสู่ทะเลแน่นอน

นักวิทยาศาสตร์หลายคนสนับสนุนแผนของญี่ปุ่น รวมไปถึง เจอร์รี โทมัส นักพยาธิวิทยาทางอณูชีวโมเลกุล ที่ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ด้านการวิจัยกัมมันตรังสี และเป็นผู้ทำรายงานให้คำแนะนำ ไอเออีเอ ต่อกรณีฟุกุชิมะ 

เขาระบุว่า “น้ำที่ถูกปล่อยออกมา จะเหมือนหยดน้ำที่ลงไปในมหาสมุทร ทั้งในเชิงปริมาณและระดับกัมมันตภาพรังสี และมันก็ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ระดับกัมมันตรังสีที่ต่ำมาก ๆ นี้ จะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ”

แต่หลายคนไม่คิดเช่นนั้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนได้รับการแต่งตั้งโดยองค์การสหประชาชาติหลายคน ได้ออกมาต่อต้านแผนการดังกล่าวนี้เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีชที่เผยแพร่รายงานตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีของเทปโก โดยกล่าวว่า เทปโก ดำเนินมาตรการไม่มากพอ เพื่อขจัดสารกัมมันตรังสีดังกล่าว

ผู้ต่อต้านในแผนการนี้ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นควรจะกักเก็บน้ำปนเปื้อนรังสีไว้ในแทงค์น้ำไปก่อน จนกว่าเทคโนโลยีการบำบัดน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีแบบใหม่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการปล่อยให้น้ำปนเปื้อนลดทอนระดับกัมมันตรังสีไปเองโดยธรรมชาติ

ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสีย

นักวิทยาศาสตร์บางคนมีความกังวลต่อแผนการของญี่ปุ่น โดยกล่าวว่า ต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบต่อพื้นมหาสมุทรและสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มากกว่านี้

“เราเห็นการประเมินผลกระทบด้านกัมมันตรังสี และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงพอ ทำให้เรากังวลว่า ญี่ปุ่นจะตรวจไม่พบความผิดปกติต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงน้ำทะเล รวมถึงตะกอนและสิ่งมีชีวิต ซึ่งหากเกิดผลกระทบจริง ก็ไม่มีทางจะย้อนกลับมาแก้ไขมันได้… เราเรียกยักษ์กลับลงตะเกียงไม่ได้แล้ว” โรเบิร์ต ริชมอนด์ นักชีววิทยาทางทะเล และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งฮาวายกล่าว

ทัตสุจิโร ซูซูกิ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ ศูนย์วิจัยการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยนางาซากิ กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่าแผนของญี่ปุ่น “จะนำไปสู่มลพิษร้ายแรง หรืออันตรายอย่างปัจจุบันทันด่วนต่อสาธารณชน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน”

แต่การที่ เทปโก ยับยั้งภัยพิบัติเมื่อปี 2011 ได้ เขายังคงวิตกถึงการเผลอปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีลงทะเลโดยอุบัติเหตุอยู่

อีกด้านชาติเพื่อนบ้านญี่ปุ่น

จีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทำข้อตกลงกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และสถาบันระหว่างประเทศให้เรียบร้อยเสียก่อนจะปล่อยน้ำเสียที่โรงงานบำบัดแล้วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล

จีนยังกล่าวเพิ่มว่า ญี่ปุ่น ละเมิด “ศีลธรรมระหว่างประเทศ และภาระผูกพันทางกฎหมาย” และเตือนว่า หากญี่ปุ่นเดินหน้าแผนการนี้ “จะต้องรับผลของการกระทำ”

อย่างไรก็ตาม จีนและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างระหองระแหงกันมานานแล้ว และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จากการสั่งสมกำลังทางทหารของญี่ปุ่น และการซ้อมรบใหญ่ของจีนรอบเกาะไต้หวัน

รัฐบาลญี่ปุ่นเดินทางเข้าหารือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพาผู้เชี่ยวชาญอย่างเกาหลีใต้เข้าชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้มีท่าทีต่อแผนของญี่ปุ่น ต่างจากจีน โดยระบุว่า เคารพ “ผลการตรวจสอบของไอเออีเอ”

จุดยืนของรัฐบาลเกาหลีใต้จากข้างต้น ทำให้ประชาชนเกาหลีใต้ไม่พอใจ โดยผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า 80% กังวลต่อการกระทำที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล และประชาชนหลายพันคนเข้าร่วมการประท้วงในกรุงโซลหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินมาตรการ เพราะผู้บริโภคเริ่มวิตกกังวล และสะสมอาหารจำพวกเกลือ และอื่น ๆ บ้างแล้ว

กระแสต่อต้านจากประชาชน ทำให้รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ต่อต้านแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีของญี่ปุ่น แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า มติดังกล่าวจะส่งผลต่อการตัดสินใจของญี่ปุ่นอย่างไร

เครดิต BBC.COM