ลอยกระทง แบบไหนลดการก่อขยะหลังกทม. ลุยเก็บขยะปี 66 ทั้งคืน

ลอยกระทง

ลอยกระทง ปี 2566 กทม. ลุยเก็บกระทง ไปกำจัด กระทงแบบไหนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ ตรวจการปฏิบัติงาน และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงแม่น้ำเจ้าพระยา ประจำปี 2566 ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร อ่านข่าวเพิ่มเติม

นายพรพรหม กล่าวว่า กทม. กำหนดจัดงานเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร สืบต่อประเพณีประจำทุกปี โดยปี 2566 กำหนดจัดงาน ใน 2 พื้นที่หลัก คือ บริเวณคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และบริเวณใต้สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด

ลอยกระทง

พร้อมเปิดสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร 34 แห่ง เพื่อให้ประชาชนได้ลอย-กระทง ภายหลังการจัดงาน กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทง เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ โดยแบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทง ดังนี้

สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงตามสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางโดยประมาณ 15 กิโลเมตร

ลอยกระทง

มีเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 168 คน เรือเก็บขยะจำนวน 31 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ และเรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ

เรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน เพื่อใช้ลําเลียงกระทงไปส่งที่สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

ลอยกระทง

นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ และมีความตระหนักใส่ใจรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการใช้กระทง ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนทราบ

วิธีลดปริมาณขยะ หลังคืนลอยกระทง ประชาชนควรลอยร่วมกัน โดยร่วมกันลอย 1 ครอบครัว/1 กระทง คู่รัก/1 กระทงกลุ่ม/1 กระทง สำนักงานต่อ 1 กระทง โดยเลือกกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดเล็ก ใช้วัสดุไม่หลากหลาย เพื่อลดภาระในการคัดแยก ในเทศกาลลอยกระทงปีนี้

ลอยกระทง

ข้อมูลในปี 2565 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้จำนวนทั้งสิ้น 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 169,367 ใบ คิดเป็นร้อยละ 42 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 

อย่างไรก็ตามกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 96.5 เป็น 95.7 ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็น 4.3

ลอยกระทง เวียนมาบรรจบอีกครั้ง มาดูข้อดี-ข้อเสีย ของกระทงที่ทำจากวัสดุต่าง ๆ

กรมควบคุมมลพิษ ออกมาเผย ข้อดี-ข้อเสีย ของกระทงจากวัสดุธรรมชาติและกระทงโฟม โดยแบ่งเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุต่าง ๆ ดังนี้

กระทงใบตอง

ข้อดี : สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และลดการใช้วัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการลดภาวะเรือนกระจก ลดภาวะจากโลกร้อนได้

ข้อเสีย : วัสดุในการทำหาได้ยาก ถ้ามีจำนวนมากไปจะทำให้เกิดการเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม และใช้เวลาในการย่อยสลาย 14 วัน

กระทงขนมปัง

ข้อดี : สามารถจัดหาวัสดุได้ง่าย ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และสามารถเป็นอาหารปลา เหมาะกับบ่อน้ำธรรมชาติ

ข้อเสีย : อาจมีคราบไขมันลอยบนผิวน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียได้ ใช้เวลาในการย่อยสลาย 3 วัน

กระทงดอกบัว

ข้อดี : สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มีขนาดเล็ก และเกิดขยะน้อยชิ้น

ข้อเสีย : จัดหาวัสดุในการทำยาก ถ้ามีจำนวนมากไปจะ ก่อให้เกิดการเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อม และใช้เวลาในการย่อยสลาย 14 วัน

กระทงน้ำแข็ง

ลอยกระทง

ข้อดี : สามารถทำได้ง่าย เมื่อลอยแล้วกลายเป็นน้ำ ไม่มีขยะตกค้างในแหล่งน้ำ

ข้อเสีย : ไม่สะดวกต่อการขนย้าย เนื่องจากน้ำแข็งละลายได้ง่าย

กระทงกระดาษ

ข้อดี : หาซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการทำง่าย เก็บรักษาง่าย มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้นาน

ข้อเสีย : ใช้เวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน เวลาประมาณ 2-5 เดือน

กระทงโฟม

ข้อดี : หาซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการทำได้ง่าย เก็บรักษาง่าย มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้นาน

ข้อเสีย : ใช้เวลาในการย่อยสลายตามธรรมชาตินานกว่า 500 ปี จึงต้องใช้วิธีต่าง ๆ ในการจัดการกับขยะ ไม่ว่าจะเป็นฝังกลบ การนำไปรีไซเคิล และการเผา แต่จัดการได้ยาก เพราะเมื่อนำไปฝังกลบจะเปลืองเนื้อที่ฝังกลบ หากนำไปเผาจะเกิดก๊าซเรือนกระจกตามมา

ลอยกระทงออนไลน์

ลอยกระทง

ข้อดี : แค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถลอยได้ ประหยัด ไม่มีขยะตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมหรือแม่น้ำ

ข้อเสีย : ต้องใช้อินเทอร์เน็ต หากไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถลอยได้ บางคนมองว่า ไม่เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงาม

แนะนำลอยกระทง โดยใช้หลัก 3R

กรมควบคุมมลพิษแนะนำกระทงโดยใช้หลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) เพื่อการสืบสานประเพณีในครั้งนี้ จะไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ดังนี้

1. ใช้น้อย (Reduce) โดยลดขนาดของกระทงลง ใช้วัสดุธรรมชาติในการตกแต่ง หรือลดการตกแต่งให้น้อยลง เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร ลดปริมาณขยะ

2. ใช้ซ้ำ (Reuse) โดยการใช้กระทงร่วมกันในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน ตัวอย่างเช่น 1 กระทง 1 ครอบครัว เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างคุ้มค่า

3. แปรรูปใช้ใหม่ (Recycle) นำกระทงที่เก็บรวบรวมไปใช้ประโยชน์ ถ้าเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติจะสามารถนำไปหมักทำปุ๋ยหรือทำก๊าซชีวภาพได้ แต่ถ้าเป็นกระทงที่ทำจากโฟมก็รวบรวมทำความสะอาดเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *