กล้อง JWST พบคาร์บอนไดออกไซด์บนดวงจันทร์ยูโรปา ชี้อาจมาจากสิ่งมีชีวิต
การสำรวจดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) ของดาวพฤหัสบดีครั้งล่าสุด โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) นักวิทยาศาสตร์พบร่องรอยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า สารอินทรีย์นี้มาจากสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรใต้พื้นผิวเยือกแข็ง อ่านข่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการค้นพบโมเลกุลของสารอินทรีย์บนดาวดวงนี้มาก่อน โดยเฉพาะโมเลกุลของสารประกอบคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิตบนโลก
กล้อง JWST พบคาร์บอนไดออกไซด์บนดวงจันทร์ยูโรปา
รายละเอียดการค้นพบข้างต้น ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Science ฉบับวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติผู้ทำการวิจัยโดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์กล่าวว่า โมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ที่พบ ไม่ได้มาจากอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนดวงจันทร์ยูโรปาในอดีต
ร่องรอยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกพบในพื้นผิวน้ำแข็งของภูมิภาค Tara Regio ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ก๊าซนี้จะเกิดขึ้นจากภายในดวงจันทร์ยูโรปาเอง
ดร.ซาแมนธา ทรัมโบ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลของสหรัฐ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้จากผลสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยชี้ว่า ภูมิภาค Tara Regio ของดวงจันทร์ยูโรปา มีร่องรอยของเกลือสมุทรปรากฏอยู่ ส่วนด้านปัจจุบันผลสำรวจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ก็ชี้ว่า พื้นที่เดียวกันมีคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นสูงปะปนอยู่ด้วย แสดงถึงความเป็นไปได้ว่ามันมีที่มาจากมหาสมุทรใต้ผืนน้ำแข็งนั่นเอง
ด้านทีมผู้วิจัยค้นพบร่องรอยของคาร์บอนไดออกไซด์แข็งหรือน้ำแข็งแห้ง ทั้งในรูปของผลึกคริสตัลและโครงสร้างอสัณฐาน (amorphous) ในบริเวณที่นักดาราศาสตร์เรียกกันว่า “พื้นที่แห่งความปั่นป่วน” (chaos region) มีผืนน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรในตำแหน่งนี้และถูกรบกวนจนทำให้มีการเคลื่อนที่ไหลเวียนของสสาร ระหว่างผืนน้ำแข็งด้านบนกับมหาสมุทรด้านล่างได้
เนื่องด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่อาจคงสภาพอยู่ได้นานบนพื้นผิวเยือกแข็งของดาว ทีมผู้วิจัยจึงสันนิษฐานไว้ว่า สิ่งที่ค้นพบในคราวนี้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่งจะเคลื่อนตัวขึ้นมาจากมหาสมุทร
อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์มีแผนที่จะเดินหน้าศึกษาดวงจันทร์ยูโรปาเพิ่มเติม ซึ่งในปีหน้าองค์การนาซาจะส่งดาวเทียมโคจรสำรวจในภารกิจ “คลิปเปอร์” (Clipper) ไปยังดวงจันทร์เยือกแข็งแห่งนี้ เพื่อวิเคราะห์โมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของดาว และเสาะหาหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตต่อไป
สำหรับยานสำรวจในภารกิจจูซ (JUICE) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) ซึ่งเพิ่งออกเดินทางไปยังกลุ่มดวงจันทร์เยือกแข็งของดาวพฤหัสบดีเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีกำหนดจะเดินทางไปถึงจุดหมายภายในปี 2031 และจะทำการโคจรวนรอบดวงจันทร์ยูโรปา, แกนีมีด, และคัลลิสโต รวม 35 รอบ
เครดิต BBC.COM
เรื่องราวเพิ่มเติม
แบนเกาหลีได้ผล สาเหตุนักท่องเที่ยวไทยเซ็ง ตม. ทำลดฮวบ 21.1%
บาหลี เก็บภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ดอลลาร์บาหลี
แม่เต่ามะเฟือง สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์วางไข่รังที่ 10 ของฤดู