นักศึกษาวัย 21 ปี ใช้ AI ค้นพบคำแรกบนม้วนกระดาษโบราณ โดยไม่ต้องเปิดอ่าน
นักศึกษาวัย 21 ปี ใช้ AI ค้นพบคำแรกบนม้วนกระดาษโบราณ โดยคำที่ถอดออกมาได้จากม้วนกระดาษปาปิรุส คือ “πορφυρας” เป็นภาษากรีกโบราณแปลว่า สีม่วง อ่านข่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ภูเขาไฟวิซูเวียสเกิดการระเบิดในปีคริสต์ศักราชที่ 79 นั้นได้ทำลายเมืองโรมัน อย่าง เมืองปอมเปอี และเฮอร์คิวเลเนียม ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี ในปัจจุบัน
เหตุการณ์ในเวลาแห่งภัยพิบัติครั้งนั้น ม้วนกระดาษและเอกสารหลายร้อยฉบับที่เขียนบนกระดาษปาปิรุส ได้ถูกกลบฝังและกลายเป็นคาร์บอน หรือก็คือกลายสภาพเป็นถ่านไปแล้ว
ตลอดเวลาเกือบ 2,000 ปี ที่ผ่านมา ม้วนกระดาษโบราณเหล่านี้ ถูกฝังกลบลึกลงไปใต้โคลนและเถ้าภูเขาไฟมีความลึกถึง 20 เมตร
พวกมันถูกเก็บอยู่ภายในคฤหาสน์ เดิมเชื่อว่าเป็นของพ่อเขยของจูเลียส ซีซาร์ แม่ทัพ นักการเมือง และรัฐบุรุษ ที่ต่อมากลายเป็นเผด็จการอันเลื่องชื่อของโรมัน ก่อนที่จะถูกลอบสังหาร
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 1700 ได้มีการขุดค้นพบซากเมืองปอมเปอี เช่นเดียวกับม้วนกระดาษปาปิรุสกว่า 600 ม้วน โดยพวกมันยังคงสภาพอยู่ได้จากการระเบิดของภูเขาไฟ ในสภาพเป็นถ่านคาร์บอน และเปราะบางเป็นอย่างมาก และจะแหลกสลายกลายเป็นฝุ่นได้หากรักษาไม่ดี
ดังนั้น หากต้องการอ่านเนื้อหาภายในม้วนกระดาษเหล่านี้โดยไม่ต้องเปิดออกและไม่สร้างความเสียหายกับพวกมัน จึงเป็นความท้าทายตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา
นักศึกษาวัย 21 ปี ใช้ AI กับชาเลนจ์
ในยุคปัจจุบัน เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการแข่งขันที่เรียกว่า “วิซูเวียส ชาเลนจ์” เป็นการแข่งขันเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (แขนงหนึ่งของวิทยาการปัญญาประดิษฐ์ เพื่อฝึกฝนให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและตอบสนองถึงข้อมูลภาพได้อย่างชาญฉลาด) เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถอ่านม้วนกระดาษจากซากเมืองเฮอร์คิวเลเนียมได้
มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเคนตักกีระดมนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเรือนหลายคน ให้มาใช้ปัญญาประดิษฐ์ถอดรหัสคำบนม้วนกระดาษ ผ่านการเอกซเรย์โดยที่ไม่คลี่ม้วนกระดาษออก เพราะการคลี่ม้วนกระดาษออกอาจทำให้เกิดความเสียหายกับม้วนกระดาษแสนเปราะบางเหล่านี้
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 ศาสตราจารย์ เบรนต์ ซีเลส จากห้องทดลอง “อีดิวซ์แลบ” ของทางมหาวิทยาลัย ได้นำม้วนกระดาษโบราณไปเอ็กซเรย์ และสร้างภาพซีทีสแกน 3 มิติคุณภาพสูงขึ้น
การแข่งขัน “วิซูเวียส ชาเลนจ์” เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2023 ผู้ชนะคือ ลุค ฟาร์ริเตอร์ นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วัย 21 ปี จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนบราสกา-ลินคอล์น ที่กลายเป็นคนแรกที่สามารถอ่านคำในม้วนกระดาษเฮอร์คิวเลเนียมได้ และได้รับเงินรางวัลไปกว่า 1.4 ล้านบาท
เขาได้พัฒนาโปรแกรม AI ให้ตรวจจับตัวอักษรโบราณที่ถูกทำให้กลายเป็นคาร์บอนบนกระดาษปาปิรุส ซึ่งการจะชนะรางวัลนี้ เขาต้องค้นหาตัวอักษรให้ได้อย่างน้อย 10 ตัวอักษร บนพื้นที่ขนาด 4 ตารางเซนติเมตรของม้วนกระดาษ ซึ่งท้ายสุด เขาค้นพบตัวอักษรราว 12 ตัว
นักกระดาษวิทยา (นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านกระดาษปาปิรุส) ถอดอักษรเหล่านี้ออกมาได้เป็นคำว่า “πορφυρας” หรือ ปอร์ปีรา ซึ่งเป็นภาษากรีกโบราณว่า สีม่วง
“ตอนที่ผมเห็นตัวอักษรเหล่านี้ ผมอึ้งไปเลย” ฟาร์ริเตอร์ กล่าวในการแถลงข่าวถึงการค้นพบ “ผมตื่นตะลึง แล้วก็แทบทรุดตัวลงกับพื้น เกือบจะร้องไห้”
หลังการค้นพบของฟาร์ริเตอร์ได้ไม่นาน ผู้เข้าแข่งขันอีกคน ยุสเซฟ นาเดอร์ นักศึกษาปริญญาตรีด้านจักรกลชีวภาพชาวอียิปต์ในกรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี ก็ได้ค้นพบอักษรชุดเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน แต่ด้วยความคมชัดที่มากกว่า ทำให้เขาได้รางวัลรองชนะเลิศ มูลค่า 360,000 บาท
อีกรางวัลมูลค่า 360,000 บาท ตกเป็นของเคซีย์ แฮนด์เมอร์ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลแรกที่เผยให้เห็นหมึกและอักษรหลายตัวภายในม้วนกระดาษที่ไม่ได้ถูกคลี่ออก ซึ่งผลงานของเขาถือเป็นรากฐานสู่การสร้างโปรแกรม AI ของฟาร์ริเตอร์
การค้นพบคำแรกบนม้วนกระดาษจากเมืองเฮอร์คิวเลเนียม ได้รับการยกย่องให้เป็นประตูสู่การปฏิวัติวงการกระดาษวิทยาเลยทีเดียว
“นี่คือฝันที่เป็นจริงสำหรับคนจำนวนมาก ที่ฝันจะถอดรหัสถ้อยคำบนม้วนกระดาษเหล่านี้ นับแต่ค้นพบมันครั้งแรกในทศวรรษที่ 1750” แนต ฟรายด์แมน ผู้กระตุ้นและสนับสนุนการจัดการแข่งขัน โพสต์บนแพลตฟอร์ม x
“มันยังเป็นผลลัพธ์ของการทำงานนาน 20 ปีของ ดร.เบรนต์ ซีเลส และทีมงานของเขาที่อีดิวซ์แลบ ที่ทำให้ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้” เขากล่าวเสริม
ระหว่างแถลงข่าวถึงคำแรกที่ค้นพบและถอดรหัสได้บนม้วนกระดาษโบราณ ศาสตราจารย์ เบรนต์ ซีเลส กล่าวว่า ม้วนกระดาษเหล่านี้ “เคยเป็นสิ่งที่ผู้คนกล่าวว่า จะไม่สามารถอ่านมันได้ เพราะมันยากมากที่จะแกะถ้อยคำออกมา” แต่มาวันนี้ เรากำลังพูดถึงมันกันแล้ว เขากล่าวเสริม
นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจากเรื่องนี้ คือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ใครก็ได้ จากที่ไหนก็ได้ สามารถอ่านเนื้อหาบนม้วนกระดาษนี้ได้
การแข่งขันวิซูเวียส ชาเลนจ์ ยังเสนอเงินรางวัลสูงสุด 25.2 ล้านบาท ให้กับทีมแรกที่สามารถอ่านข้อความได้ 4 ข้อความ จากม้วนกระดาษที่ยังไม่คลี่ออกมา 2 ม้วน นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะค้นพบข้อมูลอันทรงคุณค่าถึงวิถีชีวิตของมนุษย์เมื่อหลายพันปีก่อน
โลกได้ตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นอาคารสาธารณะขนาดใหญ่และคฤหาสน์สุดหรู เมื่อครั้งที่ซากปรักหักพังของเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียม ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 1700 เพราะไม่เพียงแต่พบซากอาคารที่ถูกเก็บรักษาไว้ แต่ผู้คนที่กำลังวิ่งหนีหรือหลบซ่อนตัวจากการระเบิดของภูเขาไฟ ก็ถูกเก็บรักษาไว้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งร้านเบเกอรีก็ถูกเก็บรักษาไว้ เช่นเดียวกับก้อนขนมปังในเตาอบ
แล้วม้วนกระดาษเหล่านี้ มีเรื่องราวอะไรที่จะบอกเราอีกบ้าง เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป
เครดิต BBC.COM
เรื่องราวเพิ่มเติม
แบนเกาหลีได้ผล สาเหตุนักท่องเที่ยวไทยเซ็ง ตม. ทำลดฮวบ 21.1%
บาหลี เก็บภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ดอลลาร์บาหลี
แม่เต่ามะเฟือง สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์วางไข่รังที่ 10 ของฤดู