หนอนตัวกลมคืนชีพ หลังจำศีลมานานในดินเยือกแข็ง 46,000 ปี

หนอนตัวกลมคืนชีพ

หนอนตัวกลมคืนชีพ หลังจำศีลอย่างล้ำลึกเสมือนว่าตายไปแล้ว 46,000 ปี

นักวิทยาศาสตร์พบหนอนตัวกลมบางชนิดที่อาศัยอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ของไซบีเรีย อยู่ในสภาวะจำศีลอย่างล้ำลึกเสมือนว่าตายไปแล้วได้ยาวนาน ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ปลุกให้มันฟื้นขึ้นมาได้สำเร็จ หลังจากที่แน่นิ่งไร้สัญญาณชีพมานานราว 45,839 – 47,769 ปี อ่านข่าวเพิ่มเติม

โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสัตววิทยาแห่งรัสเซีย (ZIRAS) และสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษาพันธุศาสตร์และชีววิทยาของเซลล์ระดับโมเลกุล (MPI-CBG) ของเยอรมนี ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับรายงานการค้นพบข้างต้นในวารสาร PLOS Genetics ฉบับล่าสุด

หนอนตัวกลมคืนชีพ

ซึ่งระบุถึงผลการตรวจสอบอายุครั้งใหม่ของซากหนอนตัวกลมสายพันธุ์โบราณ P. Kolymaensis ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2018 ว่าแท้จริงแล้วมันมีอายุเก่าแก่กว่าที่คาดไว้หลายหมื่นปี

หนอนที่อาศัยอยู่ในดินชนิดนี้ อยู่ในสภาวะเร้นชีพ (cryptobiosis) หรือเรียกว่าภาวะร่างกายที่ลดอัตราการเผาผลาญใช้พลังงานหรือเมตาบอลิซึมลงให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากเหมือนกับว่าไม่มีเมตาบอลิซึมเลยจึงทำให้ดูเหมือนสัตว์ตายไปแล้วตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ช่วงปลายสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene epoch) ทั้งที่จริงมันยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

หนอนตัวกลมคืนชีพ
ภาพขยายร่างกายส่วนต่าง ๆ ของหนอนตัวกลม P. Kolymaensis

โดยทีมนักวิจัยได้ปลุกหนอน P. Kolymaensis ให้ฟืนคืนชีพ รวมทั้งยังเพาะพันธุ์ให้มันออกลูกออกหลานมาอีก 100 รุ่น ก่อนจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดหรือจีโนม 

หลังจากนั้นพบว่าอยู่ในสภาวะเร้นชีพได้ เมื่อเจอกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างเช่น การที่ภูมิภาคไซบีเรียในอดีตมีอากาศหนาวเย็นขึ้นมากจนเนื้อดินเกิดการเยือกแข็ง

หากเทียบกับสิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าสู่สภาวะเร้นชีพได้ราว 30-40 ปี อย่างเช่นหมีน้ำทาร์ดิเกรด หนอนบางชนิดในไฟลัมนีมาโทดา (Nematoda) หรือโรติเฟอร์ (Rotifer) นับเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งหนอนตัวกลมสายพันธุ์โบราณ P. Kolymaensis สามารถอยู่ในสภาวะที่เหมือนกับตายได้นานกว่านับหมื่นเท่า

หนอนตัวกลมคืนชีพ

อีกทั้งทีมนักวิจัยได้เปรียบเทียบจีโนมของมันกับหนอนตัวกลม C. Elegans ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่ยังคงมีชีวิตและแพร่พันธุ์อยู่ในยุคปัจจุบัน จนทำให้พบว่าหนอนทั้ง 2 ชนิดมียีนที่เหมือนกันหลายตัว ซึ่งยีนหรือหน่วยพันธุกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่สภาวะเร้นชีพทั้งสิ้น 

ทำให้ทีมนักวิจัยต้องการศึกษาค้นคว้าในประเด็นนี้ต่อไป เพื่อหาวิธียืดอายุหรือเก็บรักษาเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้คงทนยาวนานถึงหลายร้อยหรือหลายพันปีได้

เครดิต BBC.COM

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *