เงินดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐาเล็งออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจกคนไทย แม้ก่อนหน้าจะยืนยันหลายวาระว่าจะไม่กู้เงินก็ตาม
สำหรับรัฐบาลใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน เตรียมเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เล็งกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นปีหน้า เพื่อแจกเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้แก่คนไทยรวม 50 ล้านคน เริ่มเดือน พ.ค. 2567 อ่านข่าวเพิ่มเติม
คําตอบที่เป็นไปได้สำหรับการดําเนินนโยบายนี้ คือการออก พ.ร.บ. วงเงิน 500,000 ล้านบาท” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดแถลงข่าวฝ่ายเดียว ไม่เปิดให้สื่อมวลชนได้ซักถาม เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 10 พ.ย. 66
นายเศรษฐา ระบุว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะเป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีความโปร่งใสภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา พร้อมแสดงความมั่นใจว่า “ในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา” และเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
การตัดสินใจที่จะใช้เงินกู้ เป็นแหล่งทุนในการดำเนินโครงการดิจิทัล เกิดขึ้นภายหลังนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐด่วน ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 10.45 น.
ก่อนประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต “แม้ก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลจะยืนยันหลายกรรมหลายวาระว่าจะ “ไม่กู้เงิน””
อีกทั้งยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะใช้แหล่งเงินกู้จากที่ใด ภายในหรือภายนอกประเทศ
เงินดิจิทัลวอลเล็ต เทียบเกณฑ์เดิมช่วงหาเสียง vs คำประกาศหลักเกณฑ์ใหม่
สรุปคำแถลงข่าวของนายกฯ เศรษฐา เมื่อวันที่ 10 พ.ย. และเปรียบเทียบกับนโยบายที่พรรคเพื่อไทย พท. หาเสียงเอาไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค.
1. วงเงินที่ใช้ดำเนินการ
- เกณฑ์เดิม : วงเงิน 560,000 ล้านบาท
- เกณฑ์ใหม่: วงเงิน 500,000 ล้านบาท และอีก 100,000 ล้านบาท ใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ
2. ที่มาแหล่งเงินที่ใช้ดำเนินการ
- เกณฑ์เดิม : แจ้ง กกต. ว่าจะใช้งบประมาณจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท และ 4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
- เกณฑ์ใหม่ : เล็งออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท
3. แพลตฟอร์มที่ใช้
- เกณฑ์เดิม : ระบบบล็อกเชน (Blockchain Technology)
- เกณฑ์ใหม่ : แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”
4. ผู้ได้รับสิทธิ
- เกณฑ์เดิม : คนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกคน รวม 54.8 ล้านคน
- เกณฑ์ใหม่ : คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท รวม 50 ล้านคน
5. รัศมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต
- เกณฑ์เดิม : ภายใน 4 กม. ตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน
- เกณฑ์ใหม่ : ภายในอำเภอ ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน
6. ระยะเวลาในการใช้จ่าย
- เกณฑ์เดิม : 6 เดือนหลังจากเริ่มโครงการ ดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศ
- เกณฑ์ใหม่ : 6 เดือนหลังจากเริ่มโครงการ และเงินที่ถูกใช้และเข้าไปอยู่ในระบบแล้ว จะสามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือน เม.ย. 2570
7. วันเริ่มโครงการ
- เกณฑ์เดิม : นายกฯ ประกาศในครั้งแรกว่าจะเริ่ม 1 ก.พ. 2567 เพื่อให้ประชาชนกลับภูมิลำเนาไปใช้เงินดิจิทัลได้ช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย. 2567
- เกณฑ์ใหม่ : เดือน พ.ค. 2567
8. เงื่อนไขการใช้จ่าย
- เกณฑ์เดิม : ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อบายมุข และการใช้หนี้
- เกณฑ์ใหม่ : ซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้นบริการ, ซื้อสินค้าออนไลน์, ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม, ซื้อบัตรกํานัล บัตรเงินสด ทองคํา เพชร พลอย อัญมณี, ชำระหนี้, จ่ายค่าเล่าเรียน, จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันและก๊าซ และไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้
9. เงื่อนไขของร้านค้า
- เกณฑ์เดิม : ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีสามารถนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินสดได้หลังจากนั้น
- เกณฑ์ใหม่ : ใช้ได้กับทุกร้านค้า ไม่จํากัดแต่ร้านอยู่ในระบบภาษี ร้านค้ารถเข็น ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปฯ เป๋าตัง ใช้ได้ทั้งหมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้นที่จะขึ้นเงินได้
แบบไหนถึงจะตั้งเกณฑ์ว่า "คนรวย" สำหรับรัฐบาลเศรษฐา
การปรับเปลี่ยนกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่อาจหาแหล่งเงินมาผลักดันนโยบายนี้ได้จริง ๆ เพราะต้องใช้เงินถึง “ครึ่งล้านล้านบาท” จึงเสนอในชั้นคณะอนุกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ที่มีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ให้ตัด “คนรวย” ออกไป
“คนรวย” สำหรับการประเมินโดยรัฐบาลเศรษฐา พิจารณาจากเกณฑ์รายได้และเงินฝาก ซึ่งข้อเสนอในชั้นอนุกรรมการฯ จำกัดรายได้ไว้ที่ไม่เกิน 25,000 บาท หรือไม่เกิน 50,000 บาท หรือให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ทว่าข้อสรุปสุดท้ายของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จำกัดรายได้ไว้ที่ไม่เกิน 70,000 บาท จากงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินการ 560,000 ล้านบาท จึงลดลงเหลือราว 500,000 ล้านบาท
นายกฯ เป็นอดีตนักธุรกิจหมื่นล้านชี้แจงว่า “ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทําให้จําเป็นต้องมีการปรับเงื่อนไขต่าง ๆ” เป็นข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และอีกหลายหน่วยงาน
“ครอบครัวที่มีรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวม 500,000 บาท มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยสําคัญ”
เขาย้ำว่า จุดประสงค์นโยบายนี้คือทําให้ประชาชนได้รับสิทธิทั่วถึงมากที่สุด ซึ่งตัวเลขเงินฝาก 500,000 บาท มาจากการคํานวณว่าถ้าคนเงินเดือน 70,000 บาท มีแนวโน้มที่จะมีเงินเก็บไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ทําให้เขาประเมินว่าคนที่มีเงินเก็บ 500,000 บาท และคนที่มีเงินเดือน 70,000 บาท เป็นคนกลุ่มเดียวกัน
เขาย้ำว่านี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
เรื่องราวเพิ่มเติม
รวงข้าว ญาตาวีมินทร์ ยังแรงต่อเนื่องลิ่วรอบ 8 คนแบดมินตัน
เหรียญ USDT เครื่องมือฟอกเงิน ดิไอคอน ไข 1 คำถามตามยากจริง?
พระเมธีวชิโรดม (ว.) เปรียญ 9 เอี่ยวดิไอคอน สำนักพุทธฯ รายงาน