อุณหภูมิมหาสมุทร อุ่นขึ้นเป็นประวัติการณ์ นักวิทยาศาสตร์คาดอาจเพราะโลกร้อนและเอลนีโญ
อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังต้องดูดซับความร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลกของเรา อ่านข่าวเพิ่มเติม
ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น อยู่ระดับที่ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2016 โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 20.96 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ๆ มาก ตามข้อมูลของ โคเปอร์นิคัส (Copernicus) ที่ให้บริการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุโรป
มหาสมุทรถือเป็นตัวการสำคัญที่คอยกำกับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมหาสมุทรดูดซับความร้อน และผลิตออกซิเจนกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีอิทธิพลต่อแบบแผนสภาพอากาศรอบโลก
น้ำที่อุ่นขึ้นจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง นั่นหมายความว่าจะมีก๊าซดังกล่าวล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มมากขึ้น และนั้นอาจเป็นตัวเร่งทำให้ธารน้ำแข็งละลายลงสู่มหาสมุทรเร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นตาม
อีกทั้ง มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น รวมไปถึงคลื่นความร้อน ก็เป็นอุปสรรคต่อสัตว์ทะเล ทั้งปลาชนิดต่าง ๆ และ วาฬ ทำให้พวกมันต้องอพยพไปหาพื้นที่ที่มีน้ำที่เย็นกว่า ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อจำนวนประชากรของปลาด้วย นอกจากนั้น สัตว์นักล่าอย่าง ฉลาม อาจก้าวร้าวขึ้น เนื่องจากมันมักสับสนเมื่ออยู่ในน้ำอุ่น
นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลกับปรากฏการณ์นี้
ดร.แคทรีน เลสเนสกี จากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ กำลังเฝ้าสังเกตกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนทางทะเลที่อ่าวเม็กซิโก โดยเปรียบว่า “น้ำในมหาสมุทรนั้นเหมือนกับอ่างน้ำอุ่นเมื่อคุณกระโดดลงไป”
เกิดการฟอกขาวขึ้นเป็นวงกว้างที่แนวปะการังนอกชายฝั่งฟลอริดา โดยบางส่วนก็ได้ตายไปแล้ว ดร.แคทรีน กล่าว
ดร.แมท ฟรอส จากสถาบันวิจัยทางทะเลพรีมัธ บอกว่าเรากำลังทำให้มหาสมุทรตกอยู่ในความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากมลพิษและการทำประมงอย่างล้นเกิน
พวกเขาหลายคนค่อนข้างกังวลถึงช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์นี้ โดย ดร.ซาแมนธา เบอร์เจส จากโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า อุณหภูมิน้ำทะเลควรร้อนที่สุดในช่วงเดือน มี.ค. ไม่ใช่ในเดือน ส.ค.
“ข้อเท็จจริงที่เราได้เห็นในสถิติ ณ ปัจจุบัน ทำให้เรากังวลว่ามหาสมุทรจะอุ่นขึ้นอีกแค่ไหน ในช่วงเวลาต่อจากนี้จนถึง มี.ค. ปีหน้า”
อุณหภูมิมหาสมุทร สูงขึ้นได้อย่างไร
ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะมีส่วนทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น เพราะทะเลได้ดูดซับความร้อนจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเอาไว้ ขณะเดียวกันพวกเขายังคงศึกษาและสอบสวนถึงเรื่องนี้ต่อไป
“ยิ่งเราเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเท่าไหร่ มหาสมุทรก็ได้รับความร้อนมากขึ้นเท่านั้น หมายความว่ามันต้องใช้เวลานานขึ้น ในการทำให้คาร์บอนหายไป” ดร.เบอร์เจส กล่าว
ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ทำลายสถิติเมื่อปี 2016 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเอลนีโญเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเอลนีโญในปีนี้ ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ามหาสมุทรอาจจะอุ่นขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อ “น้ำอุ่นเคลื่อนตัวขึ้นสู่ผิวน้ำทะเลทางฝั่งตะวันตกของชายฝั่งอเมริกาใต้ ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น”
สถิติอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงเป็นประวัติการณ์ของปีนี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดคลื่นความร้อนทางทะเลหลายจุด ทั้งในสหราชอาณาจักร แอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และ อ่าวเม็กซิโก
คลื่นความร้อนทางทะเลที่เราได้เห็นมันดูไม่ปกติ มันเกิดขึ้นในจุดที่เราไม่คาดคิด ดร.เบอร์เจส กล่าว
ในเดือน มิ.ย. ก่อนหน้า น้ำทะเลในสหราชอาณาจักร มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ 3-5 องศาเซลเซียส ขณะที่สัปดาห์ก่อนในฟลอริดา ผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงถึง 38.44 องศาเซลเซียส ซึ่งเทียบได้กับอ่างน้ำร้อน ทั้งที่ปกติแล้วควรมีอุณหภูมิระหว่าง 23-31 องศาเซลเซียสเท่านั้น
คลื่นความร้อนทางทะเลเกิดถี่ขึ้นเป็น 2 เท่าหากเทียบระหว่างปี 1982 และ 2016 ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงและยาวนานขึ้นนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ตามการรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC)
หลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าอุณหภูมิ(อากาศ)ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สำหรับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลแล้วโดยปกติมันใช้เวลานานกว่าก่อนที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างมีนัย แม้ว่ามหาสมุทรจะดูดซับความร้อนกว่า 90% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกไว้ก็ตาม
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ในไม่ช้าอุณหภูมิน้ำทะเลอาจจะไล่ตามอุณหภูมิอากาศโลกทันก็ได้ โดย ดร.คาริน่า วอน ซูคแมนน์ ระบุว่าหนึ่งในทฤษฎีที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็คือ ความร้อนส่วนใหญ่ถูกกักไว้ในน้ำลึกใต้มหาสมุทร ขณะนี้น้ำอุ่นดังกล่าวกำลังขึ้นมาสู่ผิวน้ำ โดยอาจเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนีโญด้วย
แม้ว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้รับรู้แล้วว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะอุ่นขึ้นเรื่อย ๆ จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่พวกเขาก็ยังพยายามหาคำตอบเพิ่มเติมด้วยเช่นกันว่า ทำไมอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในปีนี้จึงสูงกว่าในปีก่อน ๆ มาก
เครดิต BBC.COM
เรื่องราวเพิ่มเติม
พายุซูลิก กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 13 เตือนฝนถล่มหนัก
น้ำท่วมเชียงราย แม่สายอ่วมปีนหลังคาหนีตายเข้าช่วยเหลือ 71 คน
ไต้ฝุ่นยางิ ทำพิษเวียดนามเร่งกักตุนอาหาร เตือน 7-9 ไทยรับมือ