23/11/2024

ผลข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด

ผลข่าว อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด 24 ชั่วโมง

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม 137 สูญหายที่ปราจีนบุรี ล่าสุดพบแล้ว

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม 137 สูญหายที่ปราจีนบุรี คาดถูกถลุงไปหมดแล้ว

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม 137 กว่า 10 สัปดาห์นับตั้งแต่ได้รับแจ้งกรณีวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี

ล่าสุดได้รับรายงานว่า หลังมีการถลุงแร่ซีเซียม-137 (เศษซาก) ได้ถูกส่งต่อมายังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่ง จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวช่อง 3 โดยเปิดเผยว่าโรงงานที่ถลุงซีเซียม-137 เป็นโรงถลุงเหล็ก อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี อ่านข่าวเพิ่มเติม

บริษัทฯ รับซีเซียม-137 มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่ารับมาจากที่ไหน และสิ่งที่ต้องตามต่อ คือ ทางโรงงานที่ถลุงดังกล่าว ได้ขออนุญาตส่งฝุ่นแดงไปรีไซเคิลที่โรงงานไหนแล้วบ้าง

วันนี้ 20 มี.ค.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และทีมเจ้าหน้าที่ จะลงพื้นที่โรงถลุงเหล็กดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่เพียงเท่านั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง และศูนย์วิจัยจังหวัดชลบุรี พร้อมเข้าพื้นที่โรงงานรีไซเคิลในจังหวัดที่พบว่ารับฝุ่นแดงไปเพื่อตรวจสอบ แต่เบื้องต้น ยังไม่พบคนงานที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสี

“มันขึ้นอยู่กับปริมาณการรับ ถ้าไม่ได้สัมผัสตลอดเวลา ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร” จุลพงษ์ ทวีศรี ตอบเมื่อถูกถามถึงอันตรายของซีเซียม-137

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม

วัตถุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่สูญหายไป มีลักษณะเป็นแท่งกระบอกทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ซึ่งติดอยู่ที่ปลายท่อโรงไฟฟ้า บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด

ตัวแทนบริษัทระบุว่า เหล็กที่บรรจุกัมมันตรังสีที่หายไป มีจำนวน 1 ชิ้น จากทั้งหมด 14 ชิ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายรณรงค์ นครจินดา และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าตรวจสอบ โดยทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็คอย่างละเอียดและยืนยันว่า “สารที่พบในโรงหลอมเหล็ก เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137”

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม
เจ้าหน้าที่ ปส. ตรวจสอบปริมาณสารกัมมันตรังสีบริเวณร้านขายของเก่า ใน จ. ปราจีนบุรี

สรุปใจความสำคัญจากการแถลงข่าว

  • ไม่พบฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็กที่ถูกนำไปรีไซเคิลที่ จ.ชลบุรี ตามที่สื่อหลายสำนักรายงาน
  • ทางการเข้าปิดล้อมโรงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 แล้ว และไม่มีการปนเปื้อนไปยังสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
  • ล่าสุดยังไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137
  • ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ฝุ่นเหล็กปนเปื้อนซีเซียม-137 ที่พบนั้น มาจากวัตถุซีเซียม-137 ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำในปราจีนบุรีหรือไม่

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม 137 สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

  • วันที่ 10 มี.ค.66 เวลา 18.30 น. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย จากสถานประกอบการทางรังสีตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
  • วันที่ 11 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าตรวจสอบโดยละเอียดด้วยเครื่องมือวัดทางรังสีในพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับสถานประกอบการ แต่ไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ได้รับแจ้งว่าสูญหายไป
  • 13 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ ปส. พร้อมเครื่องมือตรวจวัดทางรังสี เข้าตรวจสอบร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง โดยตรวจสอบทุกพื้นที่ภายในสถานประกอบการ ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวภายในสถานประกอบการ
  • วันที่ 14 มี.ค.66 ปส. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ศรีมหาโพธิ ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย จากการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่รับซื้อเศษโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดทางรังสีในการสำรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย และการสอบถามข้อมูลจากสถานประกอบการดังกล่าว ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่

ต่อมา นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ และตัวแทนบริษัทฯ ในช่วงบ่ายร่วมกันชี้แจงเรื่องดังกล่าว พร้อมกับตั้งรางวัลสำหรับคนที่ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามกลับคืนมาได้ 50,000 บาท

  • วันที่ 15 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่ยังติดตามตรวจสอบค้นหา และขยายพื้นที่ไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มเติม
  • วันที่ 19 มี.ค.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประเมินว่า วัตถุซีเซียม-137 ถูกถลุงไปหมดแล้ว หลังตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในฝุ่นแดงของโรงงานถลุง
  • วันที่ 20 มี.ค.66 กรมโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง และศูนย์วิจัยจังหวัดชลบุรี จะเข้าพื้นที่ที่โรงงานรีไซเคิลในจังหวัดแห่งหนึ่ง พบว่ารับฝุ่นแดงไปเพื่อตรวจสอบ แต่เบื้องต้น ยังไม่พบคนงานได้รับสารกัมมันตภาพรังสีแต่อย่างใด

อันตรายกัมมันตรังสี ซีเซียม-137

จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากอยู่ในสภาพปกติจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ยกเว้นมีการผ่าและสารกัมมันตรังสีรั่วไหลผู้ที่สัมผัสจะเกิดอันตราย

ด้าน นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวว่า สารซีเซียม-137 นั้นจะปล่อยรังสีเบต้าและรังสีแกมม่า ทำให้ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพ โดยขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ และระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม
ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ และตัวแทนบริษัทฯ ร่วมกันชี้แจงเรื่องดังกล่าววันที่ 14 มี.ค. 2566

หากท่อบรรจุสารดังกล่าวยังอยู่ในสภาพเดิมหรือยังไม่ถูกชำแหละ ปริมาณการปล่อยรังสีออกมาจะน้อยมาก แต่หากได้รับเป็นระยะเวลานานจะมีอันตราย

หากท่อบรรจุสารถูกชำแหละ ยิ่งน่ากังวลว่าจะทำให้สารถูกปล่อยออกมามากขึ้น และเนื่องจากมีลักษณะเป็นผงอาจทำให้สูดดม หรือสัมผัสโดยตรง และเป็นอันตรายมากขึ้นได้ เช่น สัมผัสโดยเอามือไปจับ อาจจะทำให้ผิวหนังไหม้หรือถึงขั้นสูญเสียอวัยวะบริเวณนั้นไป นอกจากนี้ สารนี้ยังส่งผลต่อระบบเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวอีกด้วย

เปิดไทม์ไลน์ซีเซียม

ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เนื้อหาภายหลังมีความคืบหน้าสำคัญจากการพบร่องรอยวัตถุซีเซียม-137

“หากซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่น ๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็น โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี นั้น ทำให้บอกได้ยากว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่”

สถานการณ์ที่หนักที่สุดที่เป็นไปได้คือ การเกิดเถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจนำพาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ และไปร่วงหล่นเป็นฝุ่นผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือผู้ที่สูดดม ถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคหรือบริโภค

ข้อควรปฏิบัติ หากสัมผัสสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137

อ้างอิงจากเอกสารข้อมูลของศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตรายภาคตะวันออก กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลระยอง กล่าวถึงข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัสสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ดังนี้

สามารถลดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากตัวตาไปยังหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหากสามารถทำได้ และควรเก็บเสื้อผ้าใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่

ไปลงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัส หรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี

อาการที่พบแล้วควรพบแพทย์ ประกอบด้วย คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากสัมผัสกับรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

เครดิต BBC.COM