ชายชาวสเปน ถูกยิงที่ศีรษะ ฟื้นขึ้นมาเห็นทุกสิ่งในโลกกลับด้าน-กลับหัว
ชายชาวสเปน ถูกยิงที่ศีรษะ ขณะเกิดเหตุสงครามกลางเมืองในสเปน
เมื่อ 85 ปีก่อน เกิดเหตุสงครามกลางเมืองในสเปน มีชายผู้หนึ่งถูกยิงเข้าที่ศีรษะรอดชีวิตมาได้ราวกับมีปาฏิหาริย์ แต่เมื่อเขาฟื้นคืนสติขึ้นมา สิ่งรอบข้างที่มองเห็นเหมือนไม่ใช่โลกใบเดิมอีกต่อไป เพราะทุกอย่างอยู่ในตำแหน่งที่กลับด้านตรงกันข้ามกับความเป็นจริงทั้งหมด อ่านข่าวเพิ่มเติม
แพทย์ที่ทำการรักษารวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากรณีแปลกประหลาดของชายคนดังกล่าว เรียกเขาด้วยนามสมมติว่า “ผู้ป่วยเอ็ม” (Patient M.) ซึ่งนอกจากเขาจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ แบบที่ด้านซ้ายและขวาสลับตำแหน่งกันแล้ว เขายังเห็นภาพกลับหัวที่น่าตกใจ เช่น จู่ ๆ ก็มีคนงานก่อสร้างเล่นกายกรรม โดยห้อยหัวลงมาจากนั่งร้านในบางครั้งด้วย
จากงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurologia ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกรณีศึกษาข้างต้น ซึ่งดร. จัสโต กอนซาโล นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวสเปนได้วิเคราะห์และบันทึกไว้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน
ผลงานของดร. กอนซาโลนั้น มีความสำคัญต่อวงการแพทย์อย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรก ๆ ที่กรณีศึกษาแปลกประหลาดช่วยเปิดเผยเรื่องกลไกการทำงานของสมองที่เป็นปริศนามานาน แต่ก็น่าเสียดายเพราะที่ผ่านมากรณีศึกษาของผู้ป่วยเอ็มนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
สมองของผู้ป่วยเอ็มที่ได้รับความเสียหายจากการถูกยิงเข้าที่ด้านหลังของศีรษะ ทำให้มองเห็นทุกสิ่งกลับด้าน รวมทั้งได้ยินเสียงและรู้สึกถึงสัมผัสต่าง ๆ จากด้านที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงอีกด้วย
นอกจากนี้ เขายังสามารถอ่านตัวหนังสือและตัวเลขที่พิมพ์บนหน้ากระดาษได้ทั้งแบบปกติและแบบที่พิมพ์กลับกัน ซึ่งจะเรียงลำดับตัวอักษรสลับจากด้านหลังสุดมายังด้านหน้าสุด โดยเขาไม่รู้สึกถึงความแตกต่างถึงการอ่านตัวหนังสือทั้ง 2 แบบแต่อย่างใด
อีกทั้งผู้ป่วยเอ็มยังสามารถอ่านเวลาได้จากทุกมุมของหน้าปัดนาฬิกาข้อมืออีกด้วย โดยเขาสามารถทำสิ่งนี้ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ว่าจะหันหน้าปัดนาฬิกาไปทางใดก็ตาม เขายังมีอาการประหลาดอื่น ๆ เช่นมองเห็นสีลอยตัวแยกออกมาจากพื้นผิววัตถุ มองเห็นภาพซ้อนที่ของชิ้นเดียวกลายเป็นสามชิ้น และตาบอดสีบางสีด้วย
ช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 ดร.กอนซาโล ใช้กรณีศึกษาของผู้ป่วยเอ็มเพื่อเป็นแนวทาง เพื่อเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ว่าด้วยการทำงานของสมอง โดยเขาชี้ว่าแท้จริงแล้วสมองไม่ใช่อวัยวะที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ ทำงานแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการกระจายหน้าที่ในทุกเรื่องไปยังสมองทุกส่วนมากน้อยต่างกันไป
ดร. อัลเบอร์โต การ์เซีย โมลินา ผู้ทำการวิจัยล่าสุดซึ่งศึกษาผลงานของดร. กอนซาโล กล่าวในสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ El Pais ของสเปนว่า “ในสายตาของดร. กอนซาโล สมองก็เหมือนกับกล่องใบเล็ก หากคุณเปลี่ยนแปลงบางสิ่งในกล่องใบนั้น มันจะส่งผลกระทบไปทั้งหมด”
“ทฤษฎีเก่าที่มองว่าสมองแต่ละส่วนทำหน้าที่ต่าง ๆ แยกจากกันเป็นเอกเทศ ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของผู้ป่วยเอ็มได้ ด้านของ ดร. กอนซาโลจึงสร้างทฤษฎีใหม่ว่าด้วยพลวัตของสมอง ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติวงการประสาทวิทยาศาสตร์โดยลบล้างแนวคิดหลักที่ครอบงำวงการในยุคนั้น” ดร. โมลินากล่าว
ดร. กอนซาโล ระบุในผลการศึกษากรณีของผู้ป่วยเอ็มว่า ระดับความรุนแรงและลักษณะของความเสียหายในสมอง จะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บาดแผลจะไม่สร้างความเสียหายต่อการทำงานของสมองเพียงแค่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะส่งผลกระทบต่อสมดุลของการทำหน้าที่ในหลายประเด็นด้วยกัน
งานวิจัยของ ดร. กอนซาโล ที่ศึกษาวิเคราะห์จากผู้ป่วยเอ็มและผู้ได้รับความเสียหายในสมองรายอื่น ๆ สรุปว่ามีกลุ่มอาการสามแบบที่เกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บแต่ละครั้ง ได้แก่
- กลุ่มอาการศูนย์กลาง (central) ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติต่อประสาทสัมผัสต่าง ๆ โดยทั่วกัน
- กลุ่มอาการข้างเคียง (paracentral) คล้ายกับกลุ่มอาการศูนย์กลาง แต่จะมีการกระจายตัวของความผิดปกติไม่สม่ำเสมอในทุกประสาทสัมผัส
- กลุ่มอาการชายขอบ (marginal) ส่งผลกระทบต่อกลไกทางสมองที่จำเพาะต่อประสาทสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น
ดร. โมลินา ยังบอกว่า หลังจากนี้ตัวเขาเอง และบุตรสาวของดร. กอนซาโล จะร่วมมือกันทำงานวิจัยชิ้นใหม่ขึ้น ซึ่งจะช่วยเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในผลงานของดร. กอนซาโล ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่บุกเบิกเส้นทางสายใหม่ของวงการประสาทวิทยาศาสตร์
เครดิต BBC.COM
เรื่องราวเพิ่มเติม
แบนเกาหลีได้ผล สาเหตุนักท่องเที่ยวไทยเซ็ง ตม. ทำลดฮวบ 21.1%
บาหลี เก็บภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ดอลลาร์บาหลี
แม่เต่ามะเฟือง สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์วางไข่รังที่ 10 ของฤดู