21/05/2024

ผลข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด

ผลข่าว อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด 24 ชั่วโมง

กระแสครูกายแก้ว ธุรกิจหรืองมงาย 2 แง่มุมในศาสนวิทยา

กระแสครูกายแก้ว

ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา กล่าวว่า “คนสร้างเก่งนะ เข้าใจเรื่องการทำการตลาดคุณไสย และเข้าใจจริตแบบไทย…มันไม่เคยมีมาก่อนที่ครูไสยเวทย์ ฝึกวิชาไปมาแล้วเขี้ยวงอก เริ่มเป็นคล้ายเวตาล หรือแวมไพร์ เล็บยาวออกมา ปีกออกมา แล้วใส่สตอรี แบบไทย-เขมรเข้าไป” อ่านข่าวเพิ่มเติม

กระแสครูกายแก้ว รูปปั้นสำริด นัยน์ตาแดงกล่ำ ปากมีเขี้ยวงอก และปีกใหญ่สองข้าง

ลักษณะดังกล่าวอาจตีความได้ทั้งเป็นปีกทูตสวรรค์หรือซาตาน นี่คือรูปปั้น “ครูกายแก้ว” ที่มีเหล่าผู้ศรัทธาแห่แหนเข้าบูชาในฐานะ “บรมครูผู้เรืองเวทย์” บ้างก็มองว่าเป็น “เทพอสูร” ด้วยความเชื่อว่า จะนำมาซึ่งสิริมงคลและโชคลาภ

แต่ภาพการกราบไหว้บูชานั้นด้วยความเลื่อมใสของคนจำนวนมาก ต่อหน้าประติมากรรมรูปลักษณ์น่ากลัว และมีส่วนผสมที่ละม้ายคล้ายปีศาจในชาติตะวันตก กลับทำให้สังคมออนไลน์ในไทยตั้งคำถามว่า นี่คือปรากฏการณ์ “ลัทธิบูชาผี” หรือ “ลัทธิบูชาปีศาจ” หรือไม่

กระแสครูกายแก้ว

กระแสต่อต้านได้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อผู้ศรัทธาใน “ครูกายแก้ว” โพสต์บนสังคมออนไลน์ถึงการ “บูชายัญ” ด้วยสุนัข แมว และกระต่าย พร้อมประกาศรับซื้อสัตว์เหล่านี้ เพื่อนำไปฆ่าบูชา ผู้ศรัทธาหลายคนยืนกรานว่า การบูชาครูกายแก้วนั้นไม่มีการบูชายัญหมา-แมว

คนที่เข้าหาสิ่งเหล่านี้ เขาไม่ได้แสวงหาศาสนาอยู่แล้ว ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา กล่าว “คนที่แสวงหาไสยศาสตร์ เขาต้องการการช่วยเหลือจากอำนาจเหนือธรรมชาติ ต่อสถานการณ์ที่เร่งด่วนในปัจจุบัน”

ด้าน จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา มองปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า “สะท้อนถึงยุคล้าหลัง มันทำให้ประเทศถอยหลังไปสู่บ้านป่าเมืองเถื่อน”

“อาจารย์ต้น” ผู้ทำรูปปั้นขนาดยักษ์ ได้พูดอธิบายที่มาในรายการ โหนกระแส ว่า “ครูกายแก้ว” เป็นหนึ่งในอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของเขมร (กัมพูชา) เป็นบรมครูผู้เรืองเวทย์ ที่ทำบุญด้วยโมหะจนกลายเป็นเทพหน้าอสูร หรือที่เรียกว่า “อสูรเทพ”

ส่วนเรื่องของรูปลักษณ์ครูกายแก้ว มีที่มาจากนิมิตของ อาจารย์สุชาติ รัตนสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการตั้งศาลเทพ รวมถึง พระพิฆเนศ (ห้วยขวาง) และพระตรีมูรติ (เซ็นทรัลเวิลด์) ที่ให้ศิลปินออกแบบให้น่าเกรงขามมากขึ้น และต่อยอดจากรูปปั้นครูกายแก้วขนาดเล็กที่ได้มาจาก จ.ลำปาง ตามคำกล่าวอ้างของลูกศิษย์ อ.สุชาติ

กระแสครูกายแก้ว
รูปลักษณ์ครูกายแก้ว ปั้นขึ้นมาจากนิมิตของอาจารย์สุชาติ

เทพอสูร การ์กอยล์ เวตาล เจ้าแห่งอาคม

คำกล่าวอ้างปากเปล่า ด้วยคำว่า ครูกายแก้ว เป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงจุดประเด็นถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ รวมถึง ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก ม.ศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ ได้ชี้ว่า 

“ไม่มีจารึกใดบ่งชี้ว่า ครูกายแก้วเป็นบรมครู”

อาจเป็นลูกเล่นของผู้ที่มีความเลื่อมใสในการนำขอมโบราณมาสร้างเป็นเรื่องราวเพื่อให้ผู้คนสนใจ ผศ.ดร.กล่าว

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ ดร.ศิลป์ชัย นักศาสนวิทยา ในปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ที่มองว่านี่เป็นการ “สร้างเรื่องราว” ให้บุคคลที่มีความผู้ศรัทธาเชื่อว่าเป็น “ครูไสยเวท” พร้อมกับสร้างรูปบูชาที่มีรูปลักษณ์กระทบความรู้สึกของสังคม ดังจะเห็นได้ว่า ครูกายแก้ว มีรูปลักษณ์ที่คล้ายกับการรวมของ

  • “แวมไพร์” ในคติแนวคิดของฝรั่ง
  • ใส่ปีกแบบ “การ์กอยล์”
  • ภาพลักษณ์คล้าย “ซาตาน”
  • เรื่องราว แบบไทย-เขมร
กระแสครูกายแก้ว
“คนที่เข้าหาสิ่งเหล่านี้ เขาไม่ได้แสวงหาศาสนาอยู่แล้ว” ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์

“มันไม่เคยมีมาก่อนที่ครูไสยเวทย์ ฝึกวิชาไปมาแล้วเขี้ยวงอก เริ่มคล้ายเวตาล หรือแวมไพร์ เล็บยาวออกมา ปีกออกมา” ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ยอมรับว่า “คนสร้างเก่งการตลาด เข้าใจเรื่องการทำการตลาดคุณไสย และเข้าใจจริตแบบไทย รู้ว่าทำแบบนี้สื่อจะเล่นข่าว”

การ์กอยล์ หรือ ปนาลี คือ รูปปั้นของสัตว์ประหลาดหน้าตาดุร้าย ที่ประดับอยู่ตามมหาวิหารในชาติตะวันตก โด่งดังจาก การ์กอยล์แห่งมหาวิหารนอเทรอดาม

เวตาล คือ อมนุษย์นักเล่านิทาน ในหนังสือ “นิทานเวตาล” ที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้แปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ โดยอธิบายถึงรูปร่างของเวตาลว่า คล้ายค้างคาว ตัวผอมเห็นโครงกระดูก

กระแสครูกายแก้ว งมงาย หรือ เสรีภาพทางศาสนา ?

ภาพการบูชาครูกายแก้วกลายเป็นกระแสในปัจจุบัน ถึงขั้นมีผู้ศรัทธาพูดถึงการ “บูชายัญหมา-แมว” และราคาเครื่องบูชาที่พุ่งไปถึงหลักแสน จนเกิดเสียงวิจารณ์ด้านลบอย่างหนัก จากการสอบถาม ดร.ศิลป์ชัย ว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ปกติหรือไม่

“นี่เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่กรณีสุดท้าย ไม่ใช่กรณีแรก เพราะจะมีแบบนี้เรื่อย ๆ” เขาตอบ ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการที่มักตั้งคำถามถึง “พุทธที่แท้จริง” อยู่เสมอ เขากลับไม่ได้ต่อต้านหรือเห็นพ้องกับการสร้างรูปบูชา เช่น “ครูกายแก้ว” เพราะนี่ถือเป็น “เสรีภาพทางศาสนา” ของแต่ละบุคคล

แต่ “ความงมงายทุกชนิดน่าเป็นห่วงทั้งนั้น เพราะทำให้คนในสังคมเป็นคนไร้เหตุผล ส่งผลต่อการคิดตัดสินใจ รวมถึงประเทศชาติและการเมือง”

กระแสครูกายแก้ว

ผู้ศรัทธาหลายคนยืนกรานว่า การบูชาครูกายแก้วนั้นไม่มีการบูชายัญหมา-แมว เพราะต้องบูชาด้วยผลไม้เท่านั้น

เขาอธิบายเสริมว่า เหตุที่สังคมไทยรับเอาวัฒนธรรมการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย ไล่มาตั้งแต่ จตุคามรามเทพ (เทพในศาสนาพราหมณ์) ลูกเทพ (ตุ๊กตาไสยศาสตร์) และไอ้ไข่ (วิญญาณเด็กวัดศักดิ์สิทธิ์) เป็นเพราะสังคมไทยเป็น “พุทธแบบพหุเทวนิยม” นั่นคือ “สังคมที่รับเทพเจ้าได้เรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด”

แต่มีเงื่อนไขของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สังคมจะตอบรับได้ง่ายกว่า คือ จะต้องมีลักษณะ “อยู่ร่วมเคียงข้างกันได้” และ “ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง” 

ยกตัวอย่าง เช่น การบูชาพระพุทธเจ้า กับพระอัลเลาะห์หรือพระเจ้าของศาสนาคริสต์ พร้อมกัน ถือว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากศาสนาอิสลามและคริสต์ นับถือพระเจ้าองค์เดียว และมีลักษณะ “ไม่ยอมรับการนับถือศาสนาหรือเทพอื่นอย่างข้างเคียง หรือเท่าเทียม” นั่นเอง

อีกประการ คือ รูปลักษณ์ เพราะคำสอนของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่วนใหญ่ที่คนไทยนับถือบูชา ล้วนยังอยู่บนพื้นฐานของธรรมะและความดีเป็นตัวกำกับ แต่พอเป็น “ภาพตัวแทนของฝ่ายอธรรม ก็จะถูกปฏิเสธ รับไปแล้วจะอึดอัด”

ในกรณีของครูกายแก้ว ดร.ศิลป์ชัย มองว่า มีรูปลักษณ์ในเชิง “อธรรม” มากเกินไปเหตุ “ด้วยภาพลักษณ์แบบแวมไพร์ คล้ายลัทธิซาตาน จนสามัญสำนึกของพุทธแบบไทย ทำใจยอมรับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ออกมาในภาพเจ้าแห่งความชั่วได้ยาก”

ท้ายสุด นักศาสนวิทยาไทยในนิวซีแลนด์ มองว่า สังคมควรเคารพใน “เสรีภาพในการนับถือศาสนาของทุกคน แต่ขอให้ใช้สติปัญญา ความรู้ และความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ที่จะไม่ต้องเชื่อในทุกอย่าง”

“มูเตลูเป็นธุรกิจ” จตุรงค์ ฝากอีกข้อคิด “แม้ว่าจะมูขนาดไหนก็ควรมีสติ อย่าละเมิดกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ๆ รวมถึงตัวเอง”