21/05/2024

ผลข่าว ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด

ผลข่าว อัพเดทข่าวสาร ข่าวสด ข่าววันนี้ ข่าวล่าสุด 24 ชั่วโมง

เอเวอร์แกรนด์ ยื่นล้มละลายหลังแบกหนี้กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

เอเวอร์แกรนด์

Evergrande Group ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยื่นขอการคุ้มครองกรณีล้มละลายในสหรัฐฯ แล้ว ท่ามกลางวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่รุนแรงมากขึ้น อ่านข่าวเพิ่มเติม

การยื่นขอคุ้มครองล้มละลายตามกฎหมายสหรัฐฯ หมวดที่ 15 ต่อศาลนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 17 ส.ค. จะช่วยให้ Evergrande ที่กำลังติดหนี้สินมหาศาล สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของทางบริษัทในสหรัฐฯ ได้ ระหว่างที่กำลังเดินหน้าทำข้อตกลงกับผู้ปล่อยสินเชื่อ เพื่อกู้เงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาชำระหนี้

เอเวอร์แกรนด์

China Evergrande Group ประสบปัญหาผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เมื่อปี 2021 จนสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นทั่วโลก และการยื่นขอการคุ้มครองล้มละลายในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าวิตกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทกำลังพยายามเจรจาข้อตกลงกับผู้ปล่อยกู้สินเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 2021

ปัจจุบัน ประเมินว่าทางบริษัทมีหนี้สินมากถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10.6 ล้านล้านบาท หุ้นทางบริษัท ถูกระงับการซื้อขายมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2022

ไม่เพียงเท่านี้ Evergrande ได้เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้สูญเสียทุนทรัพย์ไปมากถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์อีกแห่งของจีน อย่าง คันทรี การ์เดน (Country Garden) เตือนว่า อาจขาดทุนถึง 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้

และไม่เพียงเท่านี้ Evergrande และคันทรี การ์เดน เท่านั้น แต่บริษัทขนาดใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนอีกหลายแห่ง ก็กำลังประสบปัญหาในการหาเงินทุนมาดำเนินโครงการให้เสร็จลุล่วง

“กุญแจสำคัญในเรื่องนี้ คือการดำเนินโครงการที่สร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้การเงินหมุนไปได้” สตีเฟน โคเครน จากบริษัทวิจัยด้านเศรษฐกิจ มูดีส์ อะนาลีติกส์ กล่าว

เขากล่าวเสริมว่า บ้านหลายแห่งของ Evergrande เป็นบ้านแบบพรีเซล ซึ่งลูกค้าสามารถชำระเงินมัดจำไว้ล่วงหน้า และจ่ายส่วนที่เหลือในวันที่กำหนด ดังนั้น หากการก่อสร้างหยุดชะงักไป ผู้ซื้อก็จะไม่ผ่อนชำระค่างวดอีกต่อไป และยิ่งทำให้การเงินของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหา

ช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลของจีนเผยว่า เศรษฐกิจจีนได้ก้าวสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว หลังดัชนีราคาผู้บริโภคลดต่ำลงในเดือน ก.ค. ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนตัดลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ท่ามกลางความประหลาดใจของผู้สังเกตการณ์ โดยเป็นความพยายามเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เอเวอร์แกรนด์ เจอปัญหาอะไร และใหญ่เกินปล่อยให้ล้มหรือไม่

Evergrande เติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วยการกู้ยืมเงินมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) เมื่อไม่กี่ปีก่อน

ในที่สุดรัฐบาลจีนก็ได้บังคับใช้กฎเกณฑ์ใหม่ในการควบคุมปริมาณหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ ต้องเสนอขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทออกไปในราคาต่ำ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินไหลเข้ามาในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ความไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้นนี้ ประกอบกับบริษัทต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยชำระหนี้มหาศาลที่ถืออยู่ ทำให้มูลค่าหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ ลดลงถึง 85% เมื่อปี 2021 ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือก็ลดลงจนดิ่งลงเหว

เอเวอร์แกรนด์

ผลกระทบร้ายแรงจากแนวโน้มการล้มละลายของบริษัทที่มีหนี้สินมหาศาล ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนได้เสนอให้รัฐบาลจีนเข้ามาช่วยเหลือ

แมตที เบคิงก์ จากอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit-EIU) กล่าวว่า “แทนที่จะเสี่ยงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นกับห่วงโซ่อุปทาน และสร้างความไม่พอใจต่อเจ้าของบ้าน เราคิดว่ารัฐบาลน่าจะหาทางในการสร้างความมั่นใจว่า ธุรกิจหลักของ Evergrande จะอยู่รอดได้” 

แต่จุดยืนของรัฐบาลจีนผู้ออกมาตรการที่นำมาสู่ปัญหาของ Evergrande คือ การมอบเงินช่วยเหลือก้อนใหญ่เพื่อช่วยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง จะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดี

การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ จะส่งผลอย่างไร

ผลกระทบแบ่งออกได้เป็น 3 ประการใหญ่ ๆ

  • คนจำนวนมากซื้ออสังหาริมทรัพย์จาก Evergrande ก่อนที่จะเริ่มมีการก่อสร้าง พวกเขาจ่ายค่ามัดจำแล้วและอาจจะเสียเงินจำนวนนั้นไป ถ้าบริษัทล้มละลาย
  • หลายบริษัททำธุรกิจร่วมกับ Evergrande อาทิเช่น บริษัทออกแบบ บริษัทก่อสร้าง และบริษัทขายวัสดุต่าง ๆ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการล้มละลายเช่นกัน
  • ผลกระทบต่อระบบการเงินของจีน
เอเวอร์แกรนด์

เมื่อปี 2021 แมตที เบคิงก์ จาก อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ กล่าวว่า “ผลกระทบทางการเงินจะกว้างมาก มีรายงานว่า Evergrande มีหนี้กับธนาคารในประเทศ 171 แห่ง และบริษัททางการเงินอื่น ๆ อีก 121 แห่ง”

หากผิดนัดชำระหนี้ธนาคารและผู้ให้กู้อื่น ๆ ก็จะปล่อยกู้ได้น้อยลง นำไปสู่ปัญหาสินเชื่อที่ตึงตัว หรือ เครดิต ครันช์ (credit crunch) ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับจีน เพราะบริษัทต่าง ๆ ที่ไม่สามารถกู้ยืมได้จะขยายตัวได้ยาก และในบางกรณีจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผลทางอ้อมคือ ความน่าลงทุนในสินทรัพย์จีนก็ลดลงในหมู่นักลงทุน

ย้อนดูธุรกิจของเอเวอร์แกรนด์

สวี่ เจียอิ้น ก่อตั้ง Evergrande ในอดีตเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เหิงต้า กรุ๊ป (Hengda Group) ขึ้นในปี 1996 ในนครกว่างโจว ทางตอนใต้ของจีน

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ Evergrande ปัจจุบันเป็นเจ้าของโครงการต่าง ๆ มีมากกว่า 1,300 แห่ง กว่า 280 เมืองทั่วประเทศจีน

Evergrande Group ขยายธุรกิจออกไปมากกว่าด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจต่าง ๆ ของ Evergrande นั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่การบริหารจัดการความมั่งคั่ง, การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเป็นเจ้าของหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดของจีนด้วย นั่นคือ กว่างโจว เอฟซี (Guangzhou FC) อีกด้วย

อีกทั้ง ฟอร์บส์ ระบุว่า นายสวี่ มีทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าประมาณ 10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.54 แสนล้านบาท)

เครดิต BBC.COM